PAT1 ตุลาคม 2559
ข้อสอบไม่เน้นถึก แต่วัดความเข้าใจและการประยุกต์ใช้ความรู้

ลักษณะข้อสอบยังคงมี 45 ข้อ เป็นช้อยส์ 5 ตัวเลือก 30 ข้อ ข้อละ 6 คะแนน และข้อระบายคำตอบ 15 ข้อ ข้อละ 8 คะแนน รวม 300 คะแนน เช่นเดิม แต่จากสถิติผลการสอบ คะแนนเฉลี่ยเหลือเพียง 42.82 คะแนน ซึ่งลดลงจากรอบก่อนหน้านี้ และเกือบต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี เลยทีเดียว ที่น่าตกใจอีกอย่างคือจำนวนคนที่ได้คะแนนในช่วง 0 - 30 คะแนน ที่ปกติจะมีอยู่ประมาณ 2 หมื่นคน รอบนี้โดดมาเป็น 8 หมื่น!!! เห็นแล้วแทบหงายหลังเลย

มาดูในส่วนของข้อสอบกันบ้าง ต้องบอกว่าระดับความยากใกล้เคียงกับ PAT1 ต.ค. 58 นะครับ แต่สิ่งที่ต่างกันคือรอบนี้ข้อสอบมาตรฐานสูงขึ้น พูดง่ายๆ คือแยกคนเดากับคนตั้งใจเตรียมตัวสอบออกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นั่นคือเหตุผลที่ผลคะแนนออกมาในลักษณะนี้ และจุดเด่นของข้อสอบก็คือข้อถึกลดลง โจทย์คำนวณน้อยลง แต่สิ่งที่ยากคือโจทย์วัดความเข้าใจของเรา ดูว่าเราสามารถเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการแก้โจทย์ได้หรือไม่

ถ้าใครเน้นท่องจำหรือเน้นอ่านเทคนิคคิดลัดมา รับรองว่าเจอข้อสอบลักษณะนี้เข้าไป แย่แน่ครับ ตัวอย่างบทที่เน้นความเข้าใจมากๆ เช่น แคลคูลัส บทนี้มีทั้งประยุกต์ในบทตัวเอง เช่น การอินทิเกรตที่ทำตรงๆ ไม่ได้ แต่ต้องวาดกราฟแล้วหาพื้นที่เอา ซึ่งโจทย์ลักษณะนี้เคยออกสอบใน PAT1 ยุคเก่าๆ ซึ่งหายไปแล้วกลับมาอีกครั้งในรอบนี้ หรือแคลคูลัสที่เอาไปประยุกต์กับบทอื่นๆ เช่น เรขาคณิต ที่เราต้องเข้าใจความสัมพันธ์ของเส้นสัมผัสกับความชันของเส้นโค้ง และเอามาประยุกต์หาคำตอบ

ลำดับและอนุกรมเองก็ยังคงเป็นบทที่ยากเช่นเดิม โจทย์มีความซับซ้อนมากขึ้น เน้นให้เรารู้จักนำลำดับและอนุกรมหลายๆ รูปแบบ มาคำนวณในข้อเดียวกัน หรืออย่างเมทริกซ์ที่โจทย์ไม่เน้นให้เราคำนวณหลายๆ ขั้นตอน หรือคิดเลขถึกๆ แต่ให้เราหาคำตอบในรูปตัวแปรไปเลย ซึ่งวัดความเข้าใจพอสมควร

สถิติก็ยังคงเป็นบทที่ออกเยอะและควรเก็บคะแนนเช่นเดิม แต่ในปีนี้โจทย์เน้นความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของข้อมูล 2 ชุด ต้องรู้สมบัติของค่ากลางและการวัดการกระจายต่างๆ ที่น่าแปลกคือไม่มีเรื่องพื้นที่ใต้โค้งปกติออกมาในชุดนี้ แต่อย่าชะล่าใจนะครับ เตรียมตัวไว้ให้พร้อมเพราะรอบหน้าคงกลับมาแน่นอน

ข้อแนะนำในการสอบรอบถัดไปคือ อ่านข้อสอบและเฉลยซ้ำๆ จนสามารถอธิบายกับตัวเองได้ว่าเพราะอะไรจึงต้องคิดแบบนี้ ไม่ต้องเน้นเทคนิคคิดลัดอะไรเพราะการแข่งกับเวลาไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แน่นอนว่าการเตรียมตัวแบบนี้นอกจากจะช่วยให้ทำข้อสอบได้แล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัยอีกด้วย

ความหมายของสัญลักษณ์ : ไม่กำหนด ง่าย ยากปานกลาง ยาก ยากที่สุด
ฝึกทำโจทย์แบบชิลๆ
น้องๆ สามารถเลือกทำโจทย์ได้ตามต้องการ ไม่มีการจับเวลา ไม่มีการนับคะแนน ตอบผิดแล้ว สามารถตอบใหม่ได้ สิ่งสำคัญ ก็คือ ควรทำความเข้าใจกับวิธีทำในเฉลยละเอียด การเรียนคณิตศาสตร์ให้ได้คะแนนดี ต้องเรียนด้วยการลองทำโจทย์เยอะๆ
เคล็ดลับจากติวเตอร์
ระหว่างอ่านเฉลย อย่าลืมมองหา "เคล็ดลับจากติวเตอร์" กรอบสีเขียว เพื่อเรียนวิธีลัด ตีโจทย์แตก เร็ว แวร๊ง!