คณิตศาสตร์ 7 วิชาสามัญ 2556
ข้อสอบแนว Speed Test ทำได้รีบทำ ทำไม่ได้ข้ามเลย ซ้อมจับเวลาบ่อยๆ จะได้เปรียบ

แนวโน้มคะแนน

ข้อสอบคณิตศาสตร์ 7 วิชาสามัญง่ายขึ้นมากเมื่อเทียบกับข้อสอบคณิตศาสตร์ กสพท. ที่เคยใช้ในระบบสอบตรงแพทย์เมื่อ 3 ปีก่อน  แต่สำหรับน้องๆ ที่จะนำคะแนนไปยื่น กสพท. นี่ไม่ใช่ข่าวดีซะทีเดียว เพราะนั่นหมายถึงคะแนนที่จะสูงตามไปด้วย คนที่ติดจริงๆ ต้องเอาให้ได้ 60 คะแนนขึ้นไป  ยิ่งไปกว่านั้น สองถึงสามปีมานี้สถิติเด็กซิ่วเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว  ดังนั้นน้องไม่ได้แข่งกับเพื่อนรุ่นเดียวกันเท่านั้น แต่น้องๆ กำลังแข่งกับคู่แข่งรุ่นพี่ฝีมือดีอีกด้วย  หลายมหาวิทยาลัยออกมาบอกตรงกันว่าเด็กซิ่วชิงที่นั่งในกลุ่ม กสพท. ได้มากถึงปีละ 40% 

สำหรับน้องที่จะเอาไปยื่นสอบตรงกลุ่มอื่นนับเป็นข่าวดีที่จะทำคะแนนในระดับดีได้ไม่ยาก คะแนนเฉลี่ยของผู้เข้าสอบทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 20 คะแนน  โดยที่ส่วนใหญ่ได้คะแนนอยู่ในช่วง 10-20 คะแนนเท่านั้น  ถ้าน้องฝึกทำข้อสอบเก่ามาบ้างจะช่วยให้ทำคะแนนสูงกว่าเพื่อนๆ ได้สบายๆ

 

ทำข้อสอบแบบไหน ถึงจะทัน!

ข้อสอบมี 30 ข้อ เวลา 90 นาที  คะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งเป็น

  1. เติมคำ 20 คะแนน 10 ข้อ ซึ่งเป็นข้อสอบง่าย บางข้ออาจถึงกับมองแล้วตอบได้เลยก็มี  ส่วนนี้ทำได้รีบทำเลย ถ้าทำไม่ได้อย่าเสียเวลามากเพราะมีคะแนนแค่ข้อละ 2 คะแนนเท่านั้น
  2. ช้อย 80 คะแนน 20 ข้อ  ความยากสมกับข้อละ 4 คะแนน แถมมี 5 ตัวเลือกอีก  เวลา 90 นาทีนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนข้อสอบ  การทำ Speed Test ที่ดี คือ เปิดดูให้ครบทุกข้อก่อน แล้วเลือกทำข้อที่ชำนาญและคิดว่าทำเสร็จได้ในเวลาสั้นๆ  ข้อไหนทำได้รีบทำ  แล้วอย่าเผลอไปทำข้อที่เกือบจะออกๆ นานเกินไป  สทศ.ไม่มีคะแนนความพยายามให้นะครับ


เจาะลึก อะไรออก อะไรไม่ออก

คณิตศาสตร์ 7 วิชาสามัญเป็นข้อสอบที่ออกตรงกับเนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.ปลาย และง่ายกว่าข้อสอบความถนัดทางคณิตศาสตร์ PAT1 ที่เน้นวัดความเก่งเสียมากกว่า  เนื้อหาที่ออกกระจายออกเกือบทุกบท  ยกเว้นข้อสอบเซตกับตรรกศาสตร์ไม่มีออกตรงๆ สัดส่วนข้อสอบสองปีที่ผ่านมาไม่คงที่ (ปี 55 ออกเมทริกซ์มากเป็นพิเศษ ปี 56 เน้นสถิติกับแคลคูลัส) จึงไม่แนะนำให้ตัดบทใดบทหนึ่งออกไป นอกจากเซต ตรรกศาสตร์ กำหนดการณ์เชิงเส้น  โจทย์ที่ผสมหลายบทพอมีให้เห็นอยู่บ้าง ที่เห็นชัดๆ คือ เรื่องความน่าจะเป็นที่ไปออกรวมกับบทอื่นเสมอ

ถึงแม้ว่าข้อสอบไม่ได้ยากมากขนาดต้องปิ๊งถึงจะออก แต่โจทย์หลายข้อมีขั้นตอนการคำนวณหลายชั้น  ถ้าคิดเลขผิดก็ไปแน่นอน  ตัวเลือกออกมาดี พลาดเล็กพลาดน้อยเจอช้อยแน่!  คนที่จะได้เปรียบ คือ คนที่ชั่วโมงบินในการฝึกฝนสูงกว่านั่นเอง  พี่แนะนำให้ซ้อมทำข้อสอบจับเวลาเยอะๆ จะช่วยได้

ความหมายของสัญลักษณ์ : ไม่กำหนด ง่าย ยากปานกลาง ยาก ยากที่สุด
ฝึกทำโจทย์แบบชิลๆ
น้องๆ สามารถเลือกทำโจทย์ได้ตามต้องการ ไม่มีการจับเวลา ไม่มีการนับคะแนน ตอบผิดแล้ว สามารถตอบใหม่ได้ สิ่งสำคัญ ก็คือ ควรทำความเข้าใจกับวิธีทำในเฉลยละเอียด การเรียนคณิตศาสตร์ให้ได้คะแนนดี ต้องเรียนด้วยการลองทำโจทย์เยอะๆ
เคล็ดลับจากติวเตอร์
ระหว่างอ่านเฉลย อย่าลืมมองหา "เคล็ดลับจากติวเตอร์" กรอบสีเขียว เพื่อเรียนวิธีลัด ตีโจทย์แตก เร็ว แวร๊ง!