PAT 1 มีนาคม 2558
ยากตามมาตรฐาน PAT1 คิดเลขยุ่งยากขึ้น ช้อยส์มีติดตัวแปร แต่ยังมีข้อง่ายให้เก็บ

ข้อสอบชุดนี้เป็นรอบที่ 2 ของ #dek58 ความยากโดยรวมใกล้เคียงกับข้อสอบ PAT 1 ที่มีการปรับเป็น 45 ข้อ ซึ่งจะประกอบไปด้วยข้อสอบพื้นฐานซึ่งออกแนวทางเดิมๆ แต่เน้นจุดเงื่อนไขเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องมีความแม่นยำในเนื้อหามากขึ้น โจทย์ยังคงมีข้อที่ต้องคิดเลขยุ่งยากอยู่บ้างแต่น้อยลง ส่วนข้อยากก็หยิบแนวข้อสอบโอลิมปิกมาออกซึ่งมีเพียงไม่กี่ข้อ ถ้าหากน้องๆ มองออกก็จะสามารถข้ามไปทำข้อที่ง่ายกว่าก่อนได้


สไตล์ข้อสอบที่คำตอบต้องติดตัวแปรค่าคงตัวยังมีถึง 3 ข้อ คือ ข้อ 5,7 และข้อ 16 แต่ไม่ได้ยากจนเกินไปเพียงแค่ใช้ต้องความเข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้ สำหรับใครฝึกซ้อมฝีมือมาดี ข้อแบบนี้ก็ไม่ถือว่าโหด  ในข้อสอบช้อยส์ 30 ข้อ ข้อละ 6 คะแนน ดันเป็นข้อสอบถามข้อความ (ก) (ข) ถูก-ผิด ถึง 12 ข้อ ทำให้ต้องใช้เวลาและความรอบคอบมากขึ้นไปอีก  ในขณะเดียวกันข้อสอบระบายตัวเลข 15 ข้อ คำตอบยังคงคาดเดาได้ยากเพราะตัวเลขคำตอบหลากหลาย ไม่กระจุกตัวอยู่ที่เลขจำนวนเต็มน้อยๆ อย่าง 0,1,2 หรือ 3 อีกแล้ว ดังนั้นการจะเข้าไปดิ่งข้อสอบระบายตัวเลขแทบไม่มีประโยชน์เลย


ผลคะแนนที่ออกมาค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 55.34 คะแนน จากคะแนนเต็ม 300 และผู้เข้าสอบเกือบทั้งหมด คือ 99% ได้คะแนนไม่เกิน 120 คะแนน ส่วนจำนวนคนได้คะแนนเกิน 120 มีเพียง 740 คน  เป้าหมายที่น้องๆ ควรตั้งไว้ คือ ทำคะแนนให้ได้เกิน 90 ขึ้นไป ซึ่งจะถือเป็น 4,000 คนแรกของประเทศในรอบนั้น คือคิดเป็น 4% ของกลุ่มคนที่ได้คะแนนสูง


สำหรับน้องๆ ที่กำลังเตรียมตัวสอบ PAT 1 รอบแรกของปี 59 นี้ คาดว่าข้อสอบที่กำลังจะออกมาจะมีความยากใกล้เคียงกันกับชุดก่อนหน้า แต่ข่าวร้ายสำหรับสายดิ่งก็คือ ข้อสอบ PAT 1 ปี 59 ข้อสอบช้อยส์จะเปลี่ยนเป็นแบบ 5 ตัวเลือกแล้ว โอกาสดิ่งถูกลดฮวบแน่นอน  ส่วนน้องๆ ที่ตั้งใจจะเตรียมตัวควรจะฝึกทำข้อสอบเก่า PAT 1 ที่เคยออกสอบมาทั้งหมด ทำความเข้าใจเฉลยและแนวทางคิดลัด ทริกต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มความเร็วในการคำนวณไว้ให้พร้อม สำหรับใครคิดจะเก็บคะแนนเกิน 120 แนะนำให้ทบทวนข้อยกเว้นในหัวข้อพื้นฐานที่ไม่ได้อยู่ในส่วนคำนวณให้พร้อม เช่น โดเมนของแต่ละฟังก์ชัน นิยามของภาคตัดกรวย หลักการคูณตลอดด้วยค่าคงตัว ความหมายของค่าสัมบูรณ์ ฯลฯ  เพื่อให้พร้อมรับมือกับแนวทางข้อสอบที่วัดความเข้าใจหลักการพื้นฐานคณิตศาสตร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น  ขอให้โชคดีกันทุกคนนะครับ

ความหมายของสัญลักษณ์ : ไม่กำหนด ง่าย ยากปานกลาง ยาก ยากที่สุด
ฝึกทำโจทย์แบบชิลๆ
น้องๆ สามารถเลือกทำโจทย์ได้ตามต้องการ ไม่มีการจับเวลา ไม่มีการนับคะแนน ตอบผิดแล้ว สามารถตอบใหม่ได้ สิ่งสำคัญ ก็คือ ควรทำความเข้าใจกับวิธีทำในเฉลยละเอียด การเรียนคณิตศาสตร์ให้ได้คะแนนดี ต้องเรียนด้วยการลองทำโจทย์เยอะๆ
เคล็ดลับจากติวเตอร์
ระหว่างอ่านเฉลย อย่าลืมมองหา "เคล็ดลับจากติวเตอร์" กรอบสีเขียว เพื่อเรียนวิธีลัด ตีโจทย์แตก เร็ว แวร๊ง!