[IELTS Listening Band 7+ ] อยากได้ ต้องอ่าน!

[IELTS Listening Band 7+ ] อยากได้ ต้องอ่าน!

ถ้าอยากได้ IELTS Listening Band7+ แต่ไม่รู้ต้องทำยังไง? มาอ่าน 7 เทคนิคเด็ดๆ ช่วยอัพ band กันเลย!

Listening ในข้อสอบ IELTS นั้น จะว่ายากก็ยาก แต่ถ้ารู้เทคนิค มีวิธีฝึกเตรียมพร้อมที่ถูกต้องแล้ว จากยาก จะกลายเป็นหวานหมู ได้คะแนนแบบชิลๆ เลยทีเดียว

หลายคนตอนสอบ ไม่มีกระบวนการฝึกทำโจทย์ที่แม่นพอ ทำให้เวลาเจอข้อสอบจริง ทุกอย่างรวนไปหมด ไม่รู้ต้องเขียนแบบไหน เติมยังไง เริ่มจากอะไรก่อนดี

วันนี้มีเทคนิค 7 ข้อมาฝาก บอกเลยว่าถ้าฝึกทำโจทย์ โดยยึดหลัก 7 ข้อนี้ไปด้วย มีโอกาสอัพ band Listening ไป 7 หรือ 8+ ได้เลย

 

1. รู้จัก format ข้อสอบ

  • IELTS Listening มีทั้งหมด 40 ข้อ ใช้เวลา 30 นาที
  • มีเวลาให้ 10 นาทีหลัง เพื่อย้ายคำตอบลงไปในกระดาษคำตอบ (*เฉพาะการสอบแบบ paper-based)
  • ข้อสอบแบ่งเป็น 4 sections
    Section 1: บทสนทนา 2 คนคุยกัน หัวข้อเป็นเรื่องทั่วๆ ไป
    Section 2: บทพูดคนเดียว (monologue) หัวข้อเรื่องทั่วๆ ไป
    Section 3: บทสนทนาหลายคน (สูงสุด 4 คน) หัวข้อยากขึ้น เช่นการถกกันระหว่างอาจารย์ กับนักศึกษาในหัวข้อทางวิชาการ
    Section 4: บทพูดคนเดียว (monologue) หัวข้อทางวิชาการ เช่นการบรรยายในระดับมหาวิทยาลัย

รูปแบบข้อสอบ IELTS Listeing สรุปให้เข้าใจง่ายๆ จะมีทั้งหมด 5 แบบ

1. Completing information/Labelling

รูปแบบนี้จะเป็นการเติมข้อมูล หรือใส่ข้อมูลในรูปภาพให้สมบูณ์ โดย format ที่เป็นการเติมข้อมูลจะมีทั้ง

  • Plan แผนผังห้อง อาคารต่างๆ โดยให้ใส่ว่าจุดไหนเรียกว่าอะไร
  • Picture diagram ไดอะแกรมของโครงสร้างเช่น พวกเครื่องจักร์ หรือกลไกการทำงานต่างๆ
  • Map แผนที่เมือง ถนน
  • Form ฟอร์มเช่น ฟอร์มการเช่ารถ ฟอร์มจองทัวร์ หรืออื่นๆ โดยจะเป็นการกรอกข้อมูลพวกชื่อ เบอร์โทร ระยะเวลา ราคา และอื่นๆ
  • Note โน๊ตสรุปเนื้อหาเช่น เนื้อหาเป็นการบรรยายในมหาวิทยาลัย ตัวโน๊ตก็จะเป็นการสรุปเนื้อหาออกมาเป็น bullet points หรือสรุปข้อความเป็นข้อๆ
  • Table ตารางสรุปข้อมูลต่างๆ
  • Flow-chart ขั้นตอน กระบวนการต่างๆ ที่ชัดเจน
  • Summary เนื้อหาสรุปส่วนมากจะเป็นการสรุปเนื้อหาจากบทบรรยายเชิงวิชาการ


2. Multiple-choice

รูปแบบหลายตัวเลือก ให้เลือกคำตอบ ซึ่งปกติเราจะชินว่าให้เลือกคำตอบเดียวเท่านั้นในข้อสอบส่วนใหญ่ แต่ใน IELTS นั้นจะมีทั้ง

  • ให้เลือก 1 คำตอบ จาก 3 ตัวเลือก
  • ให้เลือก 2 หรือ 3 คำตอบ จาก 5 ตัวเลือก

ดังนั้นต้องอ่านคำสั่งดีๆ ว่าให้เลือกกี่คำตอบกันแน่ เพราะถ้าเลือกเกิน หรือเลือกไม่ครบ จะทำให้อดคะแนนข้อนั้นได้เลย


3. Matching

รูปแบบนี้เป็นการจับคู่ information เช่น

  • ชื่อคน กับ ideas
  • ประเภทหัวข้อ กับ ข้อมูล
  • โครงสร้างเครื่องจักร กับ ชื่อเรียกส่วนประกอบ


4. Sentence Completion

เป็นการเติมคำลงในประโยคให้สมบูรณ์ โดยอิงจากสิ่งที่ได้ยินในเนื้อหา

 

5. Short-answer questions

รูปแบบนี้จะเป็นคำถามสั้นๆ แล้วให้เขียนตอบ (ส่วนมากไม่เกิน 3 คำ และตัวเลข) โดยคำถามมักจะเป็นการถามรายละเอียดต่างๆ

 

รู้จัก format ข้อสอบ: ช่วยให้เวลาสอบจริง ไม่ตื่นข้อสอบ คาดเดาได้ว่าจะเจออะไร เจอโจทย์รูปแบบไหน และแต่ละแบบจะต้องรับมืออย่างไรบ้าง

 

2. อ่านคำสั่งก่อนทำ

ด้วยรูปแบบข้อสอบที่หลากหลาย คำสั่งในแต่ละหัวข้อก็จะแตกต่างกันด้วย เช่น

  • Write NO MORE THAN TWO WORDS AND/OR A NUMBER for each answer.
  • Write NO MORE THAN ONE WORD OR A NUMBER for each answer.
  • Write NO MORE THAN THREE WORDS for each answer.

พวกนี้ให้ดูดีๆ ว่าให้เขียนไม่เกินกี่คำ (เขียนเกินจำนวนคำ = อดคะแนน)
 

  • Choose FIVE letters, A—I. Which FIVE activities are available at Golden Lake Resort?
  • Choose THREE letters, A-F. Which THREE things are the students required to submit to their professor?

โจทย์แบบนี้จะให้ตัวเลือกมาเยอะๆ  ดังนั้นอ่านก่อนว่าให้เลือกกี่คำตอบกันแน่ (เลือกขาด/เลือกเกิน = อดคะแนน)

อ่านคำสั่งก่อนทำ: ช่วยให้มีสติเวลาจะตอบ เพราะเราจะเตือนตัวเองในใจเสมอว่าคำตอบต้องไม่เกินกี่คำ หรือเลือกได้ไม่เกินกี่ข้อ

 

3. ห้ามเขียนตัวพิมพ์ใหญ่/เล็ก ผสมกัน!

ตอนใส่คำตอบนั้นเราสามารถเลือกใส่ได้ทั้งแบบตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ (Capital letters) หรือแบบตัวพิมพ์เล็ก (Lower case letters) ก็ได้ แต่ถ้าจะพิมพ์ใหญ่ “ต้องใหญ่ทั้งหมด” ไม่ควรใช้ผสมกันเพราะอาจจะพลาดได้ แต่ถ้าเลือกใช้ตัวพิมพ์เล็ก ต้องระวังกรณีที่คำตอบเป็น “ชื่อเฉพาะ” เพราะตัวแรกต้องขึ้นตัวพิมพ์ใหญ่เสมอ คนไทยเราจะชินกับการเขียนตัวพิมพ์เล็กมากกว่า ซึ่งไม่เป็นปัญหาอะไร แค่ต้องระวังเรื่องของพวกชื่อเฉพาะ อย่างที่กล่าวไป

 

4. Articles/Prepositions นับเป็นคำด้วย

บางคนจะสับสนเวลาเขียนคำตอบว่าควรจะใส่หรือไม่ใส่พวก a/an/the หรือพวก prepositions 

  • ดูคำสั่ง ว่าให้ใส่ไม่เกินกี่คำ
  • ดูหลัก Grammar กรณีที่เติมลงในประโยค ควรใส่ให้ถูกหลัก Grammar ด้วย
  • กรณีเป็นการเติมลง Note/Form ที่ไม่ได้เป็นประโยค อาจจะใส่เป็นคำ หรือพ่วง articles/prepositions ได้ (ทั้งนี้ต้องดูว่าใส่แล้วเกินจำนวนที่กำหนดไว้ด้วยหรือไม่) เช่น Write NO MORE THAN TWO WORDS for each answer.
    PLACE: office / an office
    แบบนี้จะใส่หรือไม่ใส่ an ก็ได้ เพราะไม่เกินจำนวนที่กำหนด และไม่ได้เป็นการเติมให้ประโยคสมบูรณ์ แต่ถ้าใส่ว่า “at the office” แบบนี้จะถือว่าผิดทันที เพราะกลายเป็น three words

สำคัญ!: อ่านคำสั่งให้ดีว่าเติมได้ "ไม่เกินกี่คำ"

 

5. สะกดคำ ต้องเป๊ะ!

เรื่องการสะกดคำนี่สำคัญมาก เพราะถ้าสะกดผิด = อดคะแนน ดังนั้นนอกจากฟังได้คำตอบแล้ว ยังต้องสะกดคำตอบนั้นๆ ให้ถูกด้วย

อีกประเด็นที่ผู้สอบอาจจะมีปัญหาก็คือ “จะเลือกใช้คำแบบ American หรือแบบ British English” โดยเฉพาะคนไทยที่บางทีเราอาจจะใช้ศัพท์ทั้งแบบ American ผสมกับ British โดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้ ในการสอบ IELTS นั้นไม่ได้กำหนดว่าต้องใช้แบบไหน หมายความว่า “ใช้การสะกดแบบ American หรือ British English ก็ได้” ไม่มีผลต่อคะแนน ขอแค่สะกดให้ถูก เช่น "programs" (American) หรือ "programmes" (British) ก็ถูกทั้งคู่ แต่ระวังสมมติถ้าสะกดว่า "programes" -- อันนี้จะอดคะแนนทันที เพราะสะกดผิด❌

*ถ้าเป็นการสอบ Writing ควรจะยึดแบบใดแบบหนึ่งไปเลย ไม่ควรใช้การสะกดสองแบบผสมกัน

 

6. Grammar ต้องถูก

เนื่องจากคำตอบจะ fixed มาแล้ว ดังนั้นถึงคำตอบเราถูก แต่ดันผิดหลัก Grammar ก็จะกลายเป็นผิดทันที เช่น

คำตอบที่ถูกคือ formed (past tense) แต่เราใส่แค่ form แบบนี้ก็ถือว่าผิดเลย

Grammar ที่คนมักจะผิดพลาด จะเป็นพวกเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น Singular-Plural, Verb Tenses, Subject-Verb Agreement, Parts of Speech เป็นต้น

**ตอนฟังต้องระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคำตอบพวกมี s หรือไม่มี s อันนี้คนพลาดเยอะ เพราะฟังไม่ชัดว่าสรุปออกเสียง s หรือเปล่า

 

7. ฟัง-อ่าน-เขียน พร้อมกัน!

IELTS Listening นั้นเราต้องทั้ง ฟัง อ่าน และเขียน/พิมพ์ ไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นโอกาสหลุด และพลาดมีเยอะมาก เพราะงั้นตอนฝึกก่อนไปสอบจริง ควรเตรียมตัว และจำลองบรรยากาสให้เหมือนจริงมากที่สุด ฝึกอ่านโจทย์ล่วงหน้าเป็นเซ็ทๆ ไป ฟังไปด้วย พร้อมกับเขียนคำตอบ พอถึงเวลาสอบจริงจะได้ทำข้อสอบได้ลื่นไหลมากขึ้น

  • ถ้าสอบแบบ paper-based จะสามารถเขียนคำตอบลงกระดาษคำถามได้ก่อน แล้วจะมีเวลาให้ trasnfer คำตอบไป answer sheet อีก 10 นาที
  • ถ้าสอบแบบ computer-delivered จะต้องฟังแล้วพิมพ์คำตอบลงในช่องไปพร้อมกันเลย เพราะฉะนั้นจะไม่มี 10 นาทีไว้ transfer แล้ว (มีแค่ 2 นาทีไว้ตรวจเช็คความเรียบร้อย)

 

สุดท้ายถ้าตอนสอบเกิด “พลาด” ฟังไม่ทัน อย่าเพิ่งสติกระเจิง ให้ “ข้าม” ข้อนั้นไปก่อน และรีบไปตั้งสติกับคำถามข้อต่อๆ ไปแทน เพราะถ้ามัวแต่คิดถึงข้อนั้นๆ จะกลายเป็นพลาดต่อไปอีกหลายข้อเลย

 

ติว IELTS ครบ 4 skills เริ่มติวได้วันนี้กับครูเจี๊ยบ ประสบการณ์สอนกว่า 20 ปี!

 

สอบถามคอร์สเรียนและโปรโมชั่น

โทร : 098-281-3164




สินค้าที่เกี่ยวข้อง